ประวัติความเป็นมา
และความสําเร็จของการจัดงานรางวัลรัฐบาลดิจิทัล
(Digital Government Awards)

๑. ความเป็นมา

          ด้วยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยมาตรา ๑๐ (๓) ของพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ระบุให้ สพร. สำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และวิจัย เพื่อจัดทำตัวชี้วัด ดัชนีสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล นอกจากนี้ สพร. เล็งเห็นว่าในการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย จำเป็นต้องทราบสถานะและปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินงาน รวมถึงระดับความพร้อมในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของแต่ละหน่วยงาน สพร. จึงได้จัดทำโครงการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมุ่งหวังว่า ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะสามารถสะท้อนถึงปัญหา ความท้าทาย อุปสรรค รวมถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล อันจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการจัดทำนโยบายและการจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมถึงเป็นแหล่งข้อมูลด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือ และให้หน่วยงานระดับนโยบายได้นำไปประกอบการจัดทำแผนและติดตามงานด้านนโยบายอย่างเหมาะสม
          เพื่อให้เกิดการต่อยอดในการนำข้อมูลจากผลการสำรวจฯ ไปใช้ในการยกระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ สพร. จึงจะจัดให้มีการมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัลแก่หน่วยงานภาครัฐที่มีการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในระดับสูง เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้ผลคะแนนจากโครงการสำรวจฯ อันจะเป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ในการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล และกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐให้ความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยต่อไป

๒. วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสำรวจระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐระดับกรมและหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และสามารถสะท้อนปัญหา ความท้าทาย อุปสรรค รวมถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล อันจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการ วางแผน จัดทำนโยบาย วางมาตรการ และการจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอย่างเหมาะสม
  2. เพื่อจัดทำผลการสำรวจและข้อเสนอแนะในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจากผลสำรวจ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐแต่ละหน่วยงาน นำไปใช้วางแผนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานตนเอง และหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางนำไปใช้วางแผนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศ
  3. เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ในการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล และกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐให้ความ ร่วมมือในการตอบแบบสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย

๓. กรอบการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ปี ๒๕๖๖

๔. ประเภทรางวัลรัฐบาลดิจิทัล หลักเกณฑ์การพิจารณา

การพิจารณามอบรางวัลแต่ละประเภทจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก ประกอบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบได้ สพร. จึงเห็นควรกำหนดแบ่งรางวัลรัฐบาลดิจิทัลซึ่งเป็นการพิจารณาจากผลสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี ๒๕๖๖ ออกเป็น ๕ ประเภท มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๕๐ รางวัล โดยมีรายละเอียดประเภทและหลักเกณฑ์การพิจารณารางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี ๒๕๖๖ ดังนี้
  1. รางวัลรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Awards) จำนวน ๑๕ รางวัล ประกอบด้วย

  2. (๑) รางวัลรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลัก จำนวน ๖ รางวัล มอบให้แก่หน่วยงานระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลักที่มีคะแนนรวมสูงสุด ๖ หน่วยงาน จากผลสำรวจตามกรอบการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ประจำปี ๒๕๖๖ ซึ่งจะต้องมีคะแนนรวมไม่ต่ำกว่า ๘๐ คะแนน (จากคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน)

    (๒) รางวัลรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานระดับกรมที่จัดทำนโยบาย ประสานงาน กำกับดูแล หรืออื่นๆ เป็นหลัก จำนวน ๔ รางวัล มอบให้แก่หน่วยงานระดับกรมที่จัดทำนโยบาย ประสานงาน กำกับดูแล หรืออื่นๆ เป็นหลักที่มีคะแนนรวมสูงสุด ๔ หน่วยงาน จากผลสำรวจตามกรอบการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ประจำปี ๒๕๖๖ ซึ่งจะต้องมีคะแนนรวมไม่ต่ำกว่า ๕๖ คะแนน (จากคะแนนเต็ม ๗๐ คะแนน โดยไม่พิจารณาคะแนนตัวชี้วัดด้านบริการภาครัฐ (Public Services))

    (๓) รางวัลรัฐบาลดิจิทัลระดับจังหวัด จำนวน ๕ รางวัล พิจารณาจากจังหวัดที่มีคะแนนสูงสุด ๕ จังหวัด จากผลสำรวจของคณะกรรมการผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงระดับจังหวัด (Provincial Chief Information Officer Committee: PCIO Committee) ร่วมกับผลสำรวจกรมต้นสังกัดของหน่วยงานในจังหวัด

  3. รางวัลเฉพาะด้านประจำปี จำนวน ๑๒๗ รางวัล ประกอบด้วย

  4. (๑) รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) สำหรับหน่วยงานระดับกรม จำนวน ๕๙ รางวัล จากการตอบคำถามตามแบบสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ประจำปี ๒๕๖๖ พิจารณาจากระดับการดำเนินการการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐที่มีการดำเนินการทั้งในด้านการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล และด้านการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูล

    (๒) รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th)สำหรับหน่วยงานระดับกรม จำนวน ๖๓ รางวัล พิจารณาจากชุดข้อมูลทั้งหมดมีคุณภาพตามมาตรฐานคุณลักษณะแบบเปิดที่ สพร. กำหนด ร่วมกับการนำข้อมูลเปิดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมตอบโจทย์ตามประเด็นขอบเขตการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อย่างน้อย ๑ ชุดข้อมูล และมีการเปิดเผยข้อมูลตามความต้องการจากผู้ใช้ข้อมูล

    (๓) รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านบุคลากรดิจิทัล โดยพิจารณาจากผลการประเมินตนเอง ผ่าน dg-sa.tpqi.go.thสำหรับหน่วยงานระดับกรม จำนวน ๕ รางวัล ที่มีคะแนนสูงสุดจากการประเมินทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐด้วยตนเอง (Self-Assessment) ในรอบปีที่ผ่านมา (๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ ถึง ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๖) ซึ่งดำเนินการโดย สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยพิจารณาเฉพาะหน่วยงานที่มีจำนวนเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการทดสอบได้ตามจำนวนตัวอย่างตามทฤษฎี Krejcie & Morgan ซึ่งใช้ในการประมาณจำนวนตัวอย่างจากจำนวนประชากร โดยกำหนดให้สัดส่วนของลักษณะที่สนใจในประชากร เท่ากับ ๐.๕ ระดับความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ ร้อยละ ๕ และระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ ๙๕

  5. รางวัลพัฒนาการดีเด่น จำนวน ๕ รางวัล
  6. รางวัลพัฒนาการดีเด่น แบ่งเป็นรางวัลสำหรับหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลัก ๓ รางวัล และหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่จัดทำนโนบาย กำกับ ดูแล ประสานงาน หรืออื่นๆ เป็นหลัก ๒ รางวัล โดยพิจารณารางวัลจากคะแนนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจากการคำนวณจากสัดส่วนร้อยละการเพิ่มขึ้นของคะแนนของหน่วยงานจากแบบสำรวจปี ๒๕๖๖ ต่อคะแนนปี ๒๕๖๕ ทั้งนี้การเปรียบเทียบคะแนนอิงบนกรอบสำรวจปี ๒๕๖๖ และกำหนดเงื่อนไขว่าคะแนนรวมในปี ๒๕๖๖ ของหน่วยงานที่ได้รับการพิจารณารางวัลจะต้องมากกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนรวมของหน่วยงานในประเภทนั้น ๆ

  7. รางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น จำนวน ๑ รางวัล
  8. สำหรับผู้บริหารสูงสุดขององค์กร (Chief Executive Officer: CEO) หน่วยงานระดับกรม ๑ ท่าน พิจารณาจากการประมวลผลคะแนนตามกรอบการ สำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยปี ๒๕๖๖ ใน ๕ ด้าน ประกอบด้วย

    1. คะแนนรวมตามกรอบการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยปี ๒๕๖๖ ทุกดัชนี (Overall Pillar Score)คิดเป็นค่าน้ำหนักร้อยละ ๕๐
    2. คะแนนด้านธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) คิดเป็นร้อยละ ๒๐
    3. คะแนนด้านการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Data.go.th) คิดเป็นร้อยละ ๑๐
    4. คะแนนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) คิดเป็นร้อยละ ๑๐
    5. คะแนนด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) คิดเป็นร้อยละ ๑๐

    หมายเหตุ ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร (Chief Executive Officer: CEO) หน่วยงานระดับกรมที่จะได้รับรางวัลประเภทนี้ จะต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า ๑ ปี

  9. รางวัลท้องถิ่นดิจิทัล จำนวน ๒ รางวัล จากโครงการประกวดนวัตกรรม “ท้องถิ่นดิจิทัล ประจำปี ๒๕๖๖” ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ (Digital Government Technology & Innovation Center) หรือ DGTi ของ สพร. โดยมีเกณฑ์การประเมินรางวัลท้องถิ่นดิจิทัล ดังนี้

เกณฑ์การพิจารณา คะแนน
หมวดที่ 1 ปัญหา
1. ปัญหา (Pain point) และกระบวนการที่ทำให้ทราบถึงปัญหา จนเป็นที่มาของการพัฒนาผลงานที่ส่งเข้าประกวดสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างไร โดยสามารถระบุวัตถุประสงค์ของผลงานได้อย่างชัดเจน

15

หมวดที่ 2 นโยบายและแผนงาน
2. นโยบายหรือแผน ตลอดจนวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานหรือให้บริการประชาชน แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่อย่างแท้จริง

10

หมวดที่ 3 กระบวนการทำงาน
3. ลักษณะของ ผลงาน/โครงการ นวัตกรรมดิจิทัลที่ส่งเข้าประกวด ความริเริ่มสร้างสรรค์ ของผลงาน/โครงการ รูปแบบการพัฒนาผลงาน/โครงการ และผู้ร่วมพัฒนา

25

4. การสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ และเข้าถึงบริการ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็นเหมาะสมต่อการรับรู้ของประชาชน

10

หมวดที่ 4 ผลลัพธ์การพัฒนาต่อยอดเป็นรูปธรรม
5. เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของ ผลงาน/โครงการ ที่ส่งเข้าประกวด ความสำเร็จของผลงาน/โครงการ

15

6. การมีส่วนร่วม และ/หรือผลตอบรับจากการใช้งานจริง กับภาคประชาชน และ บุคคลากรขององค์กร อย่างเหมาะสมเพียงใด

15

7. แนวทางในการปรับปรุงหรือพัฒนาต่อยอดในอนาคต (Roadmap) มีความยั่งยืน ชัดเจน และเป็นไปได้

10

คะแนนรวม

100

หมายเหตุ รางวัลแต่ละประเภทอาจมีการปรับเปลี่ยนจำนวนตามความเหมาะสม

๕. จำนวนหน่วยงานในการพิจารณามอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2565

  1. การพิจารณารางวัลจากผลสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ประจำปี ๒๕๖๖ (รางวัลประเภทที่ ๑ – ๔) มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจเป็น ๒ กลุ่มหลัก ได้แก่ หน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่า จำนวน ๓๐๐ หน่วยงาน และคณะกรรมการผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงระดับจังหวัด (Provincial Chief Information Officer Committee: PCIO Committee) จำนวน ๗๖ จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพฯ) จังหวัดละ ๑ คณะ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหน่วยงานที่สมควรได้รับรางวัลในแต่ละประเภท
  2. การพิจารณารางวัลท้องถิ่นดิจิทัล (รางวัลประเภทที่ ๕) มีหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าร่วมประกวดนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล ทั้งสิ้น ๖๐ อปท. และมีโครงการที่ผ่านเกณฑ์รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลทั้งสิ้น ๒๐ โครงการ และมีโครงการผ่านเกณฑ์รางวัลสมทบรัฐบาลดิจิทัล ทั้งสิ้น ๒ โครงการ ตามรายชื่อดังนี้
หน่วยงาน จังหวัด ผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล
1. เทศบาลนครยะลา

จังหวัดยะลา

Big Data เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ
2. เทศบาลตำบลครึ่ง
จังหวัดเชียงราย
โครงการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการ บนพื้นฐานดิจิทัลแพลตฟอร์ม
เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน (แอปพลิเคชันถังเงิน ถังทอง)

๖. ระยะเวลาดำเนินโครงการ

  1. โครงการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ประจำปี 2566 เริ่มโครงการตั้งแต่ 10 มีนาคม – 24 ธันวาคม 2566
  2. โครงการประกวดนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล ประจำปี 2565 เริ่มโครงการตั้งแต่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2566
  3. การจัดงานมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2566 จำนวน 1 วัน

๗. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ประประเทศไทยมีผลการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยซึ่งจะเป็นข้อมูลกลางที่รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบของรัฐบาลดิจิทัลการบริการอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐ และสภาพแวดล้อมในการส่งเสริมให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลเพื่อจะได้ทราบถึงสถานภาพการดำเนินงานและใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวางแผน การกำหนดนโยบาย ตลอดจนการดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ จะได้ทราบถึงสถานการณ์การพัฒนาด้านรัฐบาลดิจิทัลของตนเอง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนา และยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลภายในหน่วยงาน

  2. ในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลระดับท้องถิ่น จะได้หน่วยงานต้นแบบระบบบริหารงานและให้บริการประชาชนอย่างน้อย ๒๐ หน่วยงาน อีกทั้งได้เชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่ม อปท. รายภูมิภาคอย่างน้อย ๓ กลุ่มต่อภูมิภาค และได้รายชื่อ อปท. อย่างน้อย ๖๐ แห่ง ที่มีศักยภาพและมีความสนใจที่มีระบบบริหารงานและให้บริการประชาชน เพื่อเป็นการขยายผลออกไปเป็นวงกว้างต่อไป